Thursday, November 27, 2008

กระบวนการทางสถิติในการหาข้อสรุปจากข้อมูลเป็นอย่างไร??

กระบวนการหาคำตอบจากข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติมีขั้นตอนอย่างไร?


เอาละ สมมติว่ามีคำถามหรือประเด็นปัญหาที่ต้องการคำตอบ และอยากหาคำตอบโดยใช้วิธีการทางสถิติ หลักการหรือขั้นตอนในการดำเนินงานจะต้องเป็นอย่างไรบ้าง ในที่นี้ จะให้กระบวนการหรือขั้นตอนง่ายๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในกรณีต่างๆ ทั่วไป ดังนี้


ขั้นตอนที่ 1. กำหนดประเด็นปัญหาในเชิงสถิติ
เราต้องเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจประเด็นปัญหาหรือโจทย์ที่ต้องการคำตอบเสียก่อน ว่าเป็นอะไร แล้วจึงคิดต่อไปว่า ประเด็นปัญหาเช่นนี้เทียบเคียงกับเรื่องทางสถิติแล้วคือปัญหาอะไร เช่น สนใจเปรียบเทียบตัวยาสองตำรับว่ามีความแตกต่างกันในประสิทธิผลการรักษาโรคหรือไม่ เมื่อเทียบเคียงกับประเด็นทางสถิติก็จะกำหนดได้เป็น ปัญหาการทดสอบว่าค่าเฉลี่ยของปัจจัยที่ใช้วัดประสิทธิผลของยาทั้งสองตำรับแตกต่างกันหรือไม่ เป็นต้น ให้สังเกตด้วยว่า เราไม่ต้องการวัดความแตกต่างของตัวยาสองตำรับเฉยๆ หรือในสารเคมีที่มาทำตัวยา แต่ต้องการเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาในการรักษาโรค จึงต้องทราบว่าจะใช้ปัจจัยอะไรมาวัดประสิทธิผลของยา ซึ่งเรื่องนี้ เจ้าของศาสตร์ที่รักษาโรคจะต้องเป็นผู้กำหนดให้ โจทย์ทางสถิติจึงออกมาชัดเจนว่าเป็นการวัดค่าแตกต่างของตัวแปรใด และใช้ค่าใดเป็นตัวเปรียบเทียบ เช่น ใช้ค่าเฉลี่ย เป็นต้น ยกตัวอย่างกรณีของยารักษาความดันโลหิตสูง ตัวแปรที่ต้องนำมาพิจารณาคือ ค่า systolic และ diastolic ซึ่งคือความดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัวและคลายตัว โดยต้องวัดหลังจากรับยาแล้วเป็นเวลาหนึ่ง เช่น 20 นาที เป็นต้น


ขั้นตอนที่ 2. หาข้อมูลที่มีคุณภาพมาใช้ในการวิเคราะห์
การหาคำตอบจะต้องอาศัยข้อมูลเป็นหลักฐานในการพิจารณา เมื่อกำหนดรายการข้อมูลที่ต้องนำมาใช้ในการวิเคราะห์ได้ถูกต้องชัดเจนแล้ว จึงทำการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยต้องใช้วิธีที่เหมาะสมกับข้อมูลนั้นด้วย ซึ่งวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้น มีอยู่เพียง 3 วิธีคือ การจดบันทึกหรือการทะเบียน การสำรวจ และการทดลอง ข้อมูลบางรายการต้องจัดเก็บด้วยวิธีหนึ่ง ในขณะที่บางรายการต้องจัดเก็บด้วยวิธีอื่น จึงจะได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ เช่น ถ้าเป็นข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ก็ต้องเก็บด้วยวิธีการทะเบียน ถ้าไปเก็บด้วยวิธีการสำรวจ ก็จะมีปัญหาเรื่องความครบถ้วนของข้อมูล เป็นต้น การกำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ข้อมูลที่นำมาใช้มีคุณภาพดีและสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อตอบคำตอบได้ มิฉะนั้น ข้อสรุปที่เกิดขึ้นย่อมผิดพลาดตามไปด้วย นอกจากนี้ ข้อมูลที่นำมาใช้มักเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งหรือข้อมูลตัวอย่างเท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลสมบูรณ์หรือข้อมูลประชากร การวิเคราะห์ข้อมูลจึงมักใช้วิธีการของสถิติเชิงอนุมาน เป็นส่วนใหญ่


ขั้นตอนที่ 3. อธิบายลักษณะของข้อมูลที่มี
ก่อนทำการวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบของปัญหาที่สนใจ เราสมควรที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลที่จัดหามาได้เสียก่อน การทำความเข้าใจคือการพยายามหาลักษณะสำคัญที่มีในข้อมูลชุดนั้น ว่าเป็นอย่างไร เช่น มีค่าหรือลักษณะที่ดูผิดปกติหรือไม่ หากมี จะได้กลับไปตรวจสอบข้อมูลรายการนั้นให้แน่ใจ มิใช่ปล่อยให้ข้อมูลนั้นทำให้ชุดข้อมูลผิดปกติไปด้วย นอกจากนี้ ยังต้องการดูลักษณะของข้อมูลชุดนี้ ว่ามีค่าอยู่ในช่วงใด มีค่ากลางเท่าไร มีการกระจายตัวของค่าในชุดข้อมูลมากน้อยเพียงไร มีรูปแบบการแจกแจงหรือการกระจายตัวอย่างไร เป็นต้น การอธิบายว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นมีลักษณะเช่นไร อาจถือเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นเบื้องต้น เพื่อให้มีความเข้าใจในข้อมูลก่อนทำการวิเคราะห์ในขั้นต่อไป


ขั้นตอนที่ 4. วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีที่เหมาะสม
ขั้นตอนนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบคำถาม โดยเลือกวิธีวิเคราะห์ที่สามารถตอบคำถามได้อย่างถูกต้องเหมาะสม การวิเคราะห์จะเป็นการวิเคราะห์เชิงสถิติที่ลึกซึ้งมากขึ้น และมักเป็นการอนุมานจากข้อมูลตัวอย่างที่มีอยู่เพื่ออธิบายค่าประชากรที่สนใจ วิธีวิเคราะห์อาจเป็นวิธีเกี่ยวกับการประมาณค่า การทดสอบสมมติฐาน การหาความสัมพันธ์ และการพยากรณ์ เช่น ในกรณีที่สนใจเปรียบเทียบความแตกต่างของประสิทธิผลของยาสองตำรับในการรักษาโรคหนึ่งนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลจะเป็นเรื่องของการทดสอบสมมติฐานว่าค่าเฉลี่ยของปัจจัยที่ใช้วัดแตกต่างกันหรือไม่ หรือของตำรับยาหนึ่งมากกว่าของอีกตำรับยาหนึ่งหรือไม่ แต่ถ้าต้องการทราบว่าประสิทธิผลของตำรับยาหนึ่งดีกว่าของอีกตำรับยาหนึ่งเท่าไร ก็อาจตั้งคำถามเป็นการประมาณค่าแตกต่าง และใช้วิธีการประมาณค่ามาหาคำตอบได้


ขั้นตอนที่ 5. สรุปผลเพื่อตอบคำถาม
เป็นขั้นตอนการแปลผลที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงสถิติออกมาเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่มีในเบื้องแรก ขั้นตอนนี้ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง เพื่อออกจากกรอบแนวคิดแบบสถิติศาสตร์ กลับไปสู่ความคิดของเรื่องที่สนใจตั้งแต่เริ่มต้นนั่นเอง เช่น ถ้าผลของการวิเคราะห์ที่เป็นการทดสอบสมมติฐานออกมาเป็นว่า ปฏิเสธสมมติฐานว่าง เราก็ต้องแปลความให้เข้าใจว่า ตกลงแล้ว ยาทั้งสองตัวมีประสิทธิผลต่างกันหรือไม่ หรือตัวหนึ่งมีผลในการรักษาดีกว่าอีกตัวหนึ่งอย่างไร เป็นภาษาที่ชัดเจน

No comments: