การประกันชีวิต
คนส่วนใหญ่เมื่อถึงวัยหนึ่ง มีงานทำ มีรายได้ มีครอบครัวที่ต้องดูแล ก็มักคิดถึงการประกันชีวิต นัยว่าเป็นการเตรียมการป้องกันความเสี่ยงสำหรับครอบครัวประเภทหนึ่ง ประเทศไทยนั้น ยังมีการทำประกันชีวิตน้อยกว่าหลายๆ ประเทศในโลก และคาดกันว่าจะมีการทำประกันชีวิตเพิ่มมากขึ้น
การประกันชีวิตโดยทั่วไป ผู้ทำประกันจะตกลงเลือกกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบหนึ่ง ซึ่งกำหนดสิทธิประโยชน์หรือจำนวนเงินเอาประกัน หรือจำนวนเงินที่ผู้รับประโยชน์จะได้รับเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิตภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกัน โดยผู้ทำประกันจะจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันให้แก่บริษัทประกันชีวิตตามกำหนดจำนวนปีที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์ หรือจ่ายเป็นรายปีไปจนถึงอายุหนึ่ง แต่หากผู้ทำประกันถึงแก่กรรมก่อน ผู้รับประโยชน์จะได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องมีการจ่ายค่าเบี้ยประกันอีก
ประเด็นที่น่าคิดคือ จะกำหนดค่าเบี้ยประกันสำหรับกรมธรรม์หนึ่งๆ อย่างไร จึงจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลหนึ่งจะอยู่จนถึงอายุเท่าไร
การคิดค่าเบี้ยประกันจึงต้องอยู่บนหลักการว่า โดยเฉลี่ยแล้ว บุคคลหนึ่งเชื้อชาติหนึ่งที่มีอายุหนึ่งจะมีโอกาสมีชีวิตอยู่จนถึงอีกอายุหนึ่งเท่าไร หรืออัตราตายโดยเฉลี่ยก่อนถึงอายุหนึ่งสำหรับคนอายุหนึ่งเป็นเท่าไร
ตรงนี้แหละที่สถิติต้องเข้ามาเกี่ยว เพราะการคำนวณอัตราตายหรืออัตราอยู่รอดในลักษณะเช่นนี้ ต้องใช้ความรู้ทางสถิติในการรวบรวมข้อมูลจำนวนมากเพียงพอ และการสร้างตัวแบบเพื่อสร้างตารางมรณะที่เหมาะสมสำหรับคนในภูมิภาคหนึ่ง
หากอัตราตายหรืออัตราการอยู่รอดที่ใช้ไม่ถูกต้อง บริษัทประกันชีวิตก็จะจัดเก็บค่าเบี้ยประกันสูงหรือต่ำกว่าที่ควร
ถ้าต่ำไป ก็ไม่สามารถมีรายรับเพียงพอกับค่าใช้จ่าย เป็นปัญหากับผู้ทำประกันอีก
ถ้าสูงไป ก็ทำให้เบี้ยประกันสูงกว่าที่พึงเป็น เท่ากับไม่เป็นธรรมต่อผู้ซื้อประกัน
เห็นไหมคะ ว่าสถิติมีประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวันของเราจริงๆ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment