Monday, October 27, 2008

โพล (Poll) ก็เป็นเรื่องสถิติ

โพล (Poll) ตัวอย่างของสถิติในชีวิตประจำวัน

การสำรวจความคิดเห็นหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโพล (Poll) เป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีการรายงานผลการทำโพลอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาวะทางเศรษฐกิจเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบางประการเกิดขึ้น เป็นต้น ตัวอย่างเช่น

· สวนดุสิตโพล เสนอข่าวผลการจัดทำโพล “ผู้สมัครส.ส.” และ “พรรคการเมือง” แบบใด? ที่ “คนไทย” อยากเลือก เมื่อ 21 ตุลาคม 2550 ว่า

“... จากการที่จะมีการเลือกตั้ง ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ความตื่นตัวของคนไทยที่มีการตอบรับการเลือกตั้งครั้งนี้ดูจะเป็นที่สนใจของทุกฝ่าย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป ในหัวข้อ “ผู้สมัคร ส.ส.” แบบไหน? “พรรคการเมือง” แบบใด? ที่คนไทยอยากเลือก โดยกระจายตามจังหวัดที่เป็นตัวแทนของภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,884 คน (กรุงเทพฯ 879 คน 46.66% ต่างจังหวัด 1,005 คน 53.34%) สำรวจระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2550 สรุปผลได้ดังนี้

1) 5 อันดับ คุณสมบัติของ “ผู้สมัครส.ส.” ที่คนไทยอยากเลือก

อันดับที่ ร้อยละ

1 ซื่อสัตย์ สุจริต /ไม่โกงกินบ้านเมือง 41.62%
2 เป็นคนดี มีคุณธรรม 19.29%
3 ทำงานเพื่อส่วนรวม /นึกถึงประชาชนเป็นสำคัญ 17.77%
4 มีความรู้ ความสามารถ /มีความเป็นผู้นำ 12.18%
5 มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดี /ประวัติดี 9.14%

2) 5 อันดับ ลักษณะของ “พรรคการเมือง” ที่คนไทยอยากเลือก

อันดับที่ ร้อยละ
1 ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง มีความโปร่งใสในการทำงาน 28.95%
2 มีวิสัยทัศน์กว้างไกล /มีนโยบายการทำงานที่ชัดเจน
และสามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ 23.68%
3 มีความพร้อมในการทำงานเพื่อประเทศชาติ /มีความตั้งใจจริง 21.05%
4 เข้าถึงประชาชน รับฟังปัญหา /ให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง 20.85%
5 มีอุดมการณ์ที่แน่นอน มั่นคง 5.47%
.....”
(http://www.dusitpoll.dusit.ac.th/data_50.html)


· รามคำแหงโพล ศูนย์ประชามติ สถาบันวิจัยและพัฒนาเสนอโพล “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์: ปัญหามากรอการแก้ไข” ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นและเสนอรายงาน เมื่อ 21 มีนาคม 2545 ดังนี้

“...ศูนย์ประชามติ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงทำการสำรวจความคิดเห็นของคณะกรรมการบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นตัวแทนทุกจังหวัดทุกภาคทั่วประเทศ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป ผลการสำรวจของรามคำแหงโพลล์เกี่ยวกับความคิดเห็นของคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 922 คนซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนจากทุกภาคทั่วประเทศในเรื่องปัญหาการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของรัฐบาล พบว่ามีปัญหามากทั้งปัญหาการขาดแคลนเงินทุนของชาวบ้าน การขาดแคลนตลาดสำหรับขายผลิตภัณฑ์ การขาดความรู้ด้านการผลิตของชาวบ้าน และการขาดการดูแลจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามลำดับ ที่มีปัญหาระดับปานกลาง คือ คุณภาพของสินค้าที่ชาวบ้านผลิตไม่ได้มาตรฐาน ....... นอกจากนี้ยังมีผู้ตอบว่ามีปัญหาอื่น ๆ จำนวน 103 คน คือร้อยละ 11.2 จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ พื้นที่บางพื้นที่ไม่ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทำให้ประชาชนไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ ประชาชนไม่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำการค้า ผลิตภัณฑ์ขายไม่ได้ราคา วัตถุดิบในการผลิตสินค้าไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ของรัฐดูแลประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยังไม่เพียงพอ การขาดแคลนเงินทุนและบุคลากรหรือวิทยากรที่จะสอนอาชีพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การนำเงินมาลงทุนไม่ถูกต้อง การใช้อำนาจและอิทธิพลในทางมิชอบของประธานกรรมการบริหาร........”

(http://www.ru.ac.th/rupoll/a4.htm)


· เอแบคโพล จัดทำเอ็กซิทโพลล์ (Exit Poll) กรณีการเลือกตั้ง ส.ว. 2551

ศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้ทำการสำรวจในวันเลือกตั้ง ส.ว. กทม. และรายงานเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551 ว่า

“.....ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 4,139,894 คน คณะผู้วิจัยได้สุ่มตัวอย่างหน่วยเลือกตั้งจำนวน 397 หน่วยจากทั้งหมด 6,323 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 6.28 ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด และเก็บข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 18,459 คน คิดเป็นร้อยละ 0.45 (จาก http://abacpoll.au.edu/snt51/snt51a03.html) ผลการสำรวจพบว่าคน กทม. จะไปใช้สิทธิระหว่างร้อยละ 48 – 54 ของคน กทม. ที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดความคลาดเคลื่อนร้อยละ 3.....”

(http://www.abacpoll.au.edu./snt51/sni51a03.html)


จะเห็นว่า ในการรายงานผลการทำโพลนั้น จะกล่าวถึงการสำรวจความคิดเห็นโดยสอบถามบุคคลตัวอย่างจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นสัดส่วนเล็กมากของจำนวนทั้งหมด เช่น สุ่มตัวอย่างหน่วยเลือกตั้งมาจำนวน 397 หน่วยจากทั้งหมด 6,323 หน่วยหรือ 6.28% และเก็บข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนเพียง 0.45% ของประชากรทั้งหมด จึงต้องถามคำถามว่า ตัวอย่างขนาดเล็กมากเช่นนั้นจะเป็นตัวแทนของประชากรหรือข้อมูลทั้งหมด หรือนำมาอธิบายประชากรหรือข้อมูลทั้งหมดได้อย่างไร

ตรงนี้แหละที่สถิติต้องเข้ามาเกี่ยวด้วย คือต้องมาช่วยกำหนดขนาดตัวอย่างและวิธีการเลือกตัวอย่างที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่าตัวอย่างที่ได้นั้นเป็นตัวแทนได้ดีเพียงพอ ของข้อมูลทั้งหมด

ข้อน่าสังเกตคือ ในรายงานผลของโพลส่วนใหญ่ มักไม่มีการกล่าวถึงวิธีการเลือกตัวอย่างบุคคลที่เป็นหน่วยตัวอย่างมาตอบคำถาม ตลอดจนไม่ได้ไขข้อสงสัยว่าขนาดตัวอย่างที่ใช้เพียงพอหรือไม่

อันที่จริง ต้องยอมรับตั้งแต่แรกว่า การสำรวจอย่างนี้ ต้องการได้ผลรวดเร็ว เพราะถ้าช้าก็ไม่มีประโยชน์อะไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ขนาดตัวอย่างก็ต้องเล็ก พอขนาดเล็ก ก็ต้องยอมรับว่า ข้อสรุปอาจมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ เพราะไม่ได้ใช้ข้อมูลทั้งหมด ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จะยอมรับความคลาดเคลื่อนในข้อสรุปได้สักแค่ไหน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ จะต้องการคุณภาพระดับไหน คุณภาพสูง ก็ต้องใช้ตัวอย่างใหญ่ขึ้น

ในทางปฏิบัติ โพลส่วนใหญ่มักไม่มีการกล่าวถึงคุณภาพของผลสรุปที่ได้จากการสำรวจนั้น

ประเด็นที่ต้องคิดคือ ข้อสรุปจากการสำรวจความคิดเห็นนั้นๆ มีความเชื่อถือได้เพียงใด เราจึงควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับการสำรวจความคิดเห็นเพียงพอที่จะตัดสินใจได้ว่า ควรให้ความเชื่อถือกับผลของโพลหนึ่งแค่ไหน หรือควรตั้งคำถามอะไรกับโพลนั้น ก่อนจะเชื่อผลที่ได้อย่างสนิทใจ

สรุปง่ายๆ ก็คือ สถิติ เป็นเรื่องที่นำมาใช้ในการเลือกตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีพอ กำหนดขนาดตัวอย่างที่เพียงพอในการสรุปผลที่มีความเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง สถิติยังเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์สรุปผล และดูคุณภาพของวิธีการสรุปผลที่ใช้

ถ้าไม่มีการใช้สถิติล่ะ ผลก็คือ เราจะไม่สามารถอธิบายหรือมีความมั่นใจได้ว่า ข้อสรุปที่ได้จากการทำโพล นั้น เชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร

ซึ่งเรื่องใหญ่คือ เราต้องทราบว่า ข้อมูลทุกเรื่องนั้น มีประเด็นเรื่องคุณภาพที่เราต้องใส่ใจ ไม่ใช่ว่า ใครบอกอะไรมาก็เชื่อได้หมด ถ้าเราใส่ใจคุณภาพของข้อมูล ก่อนปักใจเชื่อ เราก็จะเลือกเชื่อข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้คุณภาพการตัดสินใจของเราดีขึ้นด้วย

และสถิติก็คือเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยให้เราทำการกรองข้อมูลที่ดี เชื่อถือได้ ออกมาใช้นั่นแหละ

เป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องสนใจสถิติบ้างไงคะ

No comments: