Monday, October 27, 2008

ชีวิตประจำวันของเราต้องเกี่ยวข้องกับสถิติจริงหรือ?

ทำไมชีวิตประจำวันของเราต้องเกี่ยวข้องกับสถิติด้วย?

ถ้าจะบอกว่า ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน มีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสถิติและข้อมูลเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา (แต่เราอาจไม่รู้ตัว) นับตั้งแต่ข่าวสารที่ได้ยินได้ชมหรือได้อ่าน ก็มีส่วนของสถิติปรากฏอยู่ด้วยทั้งสิ้น

หลายคนคงไม่เชื่อ หรือค้านอยู่ในใจ แต่ลองอ่านไปอีกนิดซิ

ข่าวสารที่ได้ยิน หลายกรณีเป็นเรื่องของการบอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นและเป็นอย่างไร เช่น ข่าวนักกีฬายกน้ำหนักของไทยทำลายสถิติเดิม หรือข่าวสถิติการส่งออกในไตรมาสที่ผ่านมาสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าเท่าไร หรือสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเท่าไร เป็นต้น นี่ก็เกี่ยวกับข้อมูลแล้วละ

ในขณะที่ข่าวสารอื่น อาจเกิดจากการใช้สถิติไปประยุกต์เข้ากับเรื่องหนึ่งๆ เช่น การคาดประมาณยอดส่งออกสินค้าในปีต่อไป หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวที่บ้านเรา เป็นต้น หรือข่าวสารที่ได้จากข้อสรุปที่เกิดจากการวิเคราะห์วิจัย ซึ่งมีกระบวนการหาข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ทำไมเบี้ยประกันชีวิตของผู้เอาประกันที่มีอายุต่างกันจึงต้องแตกต่างกัน? หรือทำไมผลการทำโพลขององค์กรหนึ่งน่าเชื่อถือกว่าอีกองค์กรหนึ่ง หรือจะเชื่อผลการวิจัยดีไหมว่า ยาตัวใหม่ที่ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงมีประสิทธิภาพดีกว่าตัวเดิม เป็นต้น

ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันมีปริมาณมากและเราสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ละวันๆ มีข่าวออกทางวิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์มากมาย แต่พึงจะเชื่ออะไรแค่ไหนเป็นเรื่องที่ยาก ผู้รับข่าวสารจะต้องเป็นผู้กรองเอาเองว่าข้อมูลข่าวสารแต่ละเรื่องมีความเชื่อถือได้เพียงไร และรู้จักเลือกใช้ให้ถูกต้อง

นอกจากคนทั่วไปแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ ก็ต้องอาศัยสถิติ(โดยไม่รู้ตัวอีกน่ะแหละ) เพื่อให้มีข้อมูลและสารสนเทศที่มีคุณภาพมาใช้ ซึ่งจะมีได้ก็ต่อเมื่อเรามีกระบวนการที่เหมาะสมในการเก็บรวบรวมข้อมูล เอามาเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ในการวิเคราะห์ และมีวิธีการวิเคราะห์ที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลให้ได้ข้อสรุปหรือสารสนเทศที่มีคุณภาพ

ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทอย่างปัจจุบัน ปริมาณข้อมูลที่มีการจัดเก็บหรือเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของการดำเนินงานมีมากมาย เช่น ห้างร้านที่มีบัตรสมาชิก ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อสินค้าของสมาชิกเก็บไว้เยอะแยะ วิทยาการคอมพิวเตอร์จะช่วยจัดระบบข้อมูลจำนวนมาก เช่น จัดระบบการจัดเก็บ การเรียกคืนข้อมูล และการค้นหา แต่ก็ไม่สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาข้อสรุป หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจได้อย่างลึกซึ้งตามต้องการ

ที่ถูกแล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลต้องอาศัยแนวคิดและหลักการของสถิติมากกว่า โดยมีคอมพิวเตอร์เป็นตัวสนับสนุนทำให้กระบวนการทางสถิติทำได้ง่ายและสะดวกขึ้นเป็นอย่างมาก เช่นตัวอย่างข้างต้น คอมพิวเตอร์จะช่วยในการจัดเก็บข้อมูล จัดระบบข้อมูลให้สืบค้นได้ง่าย นำเสนอข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาดำเนินงานเกี่ยวกับลูกค้า เช่น การจัดเก็บเงินค่าสินค้า เป็นต้น

แต่ถ้าต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีให้เต็มที่ เช่น ข้อมูลที่มีช่วยเราในการเสนอสินค้าที่ลูกค้าอาจสนใจซื้ออย่างได้ผล ก็อาจต้องใช้วิธีการที่เรียกกันทั่วไปว่า Data Mining เพื่อช่วยในการจัดกลุ่มลูกค้า หรือจำแนกกลุ่มลูกค้า หรือหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของลูกค้า เพื่อช่วยในการเสนอขายสินค้าตัวอื่นแก่ลูกค้าของกิจการ วิธีการเหล่านี้ เป็นวิธีการเชิงสถิติที่ต้องอาศัยความรู้ทางสถิติทั้งสิ้น

แล้วยากหรือไม่ คงต้องบอกว่า สำหรับผู้ใช้โดยทั่วไป ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจในกระบวนการสร้างวิธีการทางสถิติเหล่านั้น แต่ต้องเข้าใจเลือกวิธีการใช้เครื่องมือทางสถิติเหล่านั้นให้ถูกต้อง ใช้เครื่องมือให้เป็นนั่นเอง ส่วนการคำนวณก็อาศัยโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ทั่วไปช่วยคิดให้ได้

เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น โปรดติดตามตอนต่อไป ซึ่งจะมีตัวอย่างกรณีต่างๆ ที่ต้องใช้สถิติให้อ่านเพิ่มเติม

No comments: