สถิติคืออะไร ต่างจากสถิติศาสตร์หรือไม่??
ว่ากันถึงการใช้ประโยชน์สถิติในชีวิตประจำวันกันมาหลายวันแล้ว อาจมีคนถามว่า แล้วเจ้าสถิติที่พูดถึงนี้ คืออะไรกัน ที่เรียนๆ กันมาก็มีวิชาสถิติ สถิติเบื้องต้น หลักสถิติ สถิติศาสตร์ ฯลฯ หลายชื่อเต็มที่ ดังนั้น วันนี้ควรมาทำความเข้าใจกับสถิติอย่างเป็นทางการเสียหน่อย
อันที่จริง คำว่าสถิตินั้น อาจหมายถึงข้อมูลสถิติ หรือวิชาการทางสถิติที่เรียกว่าสถิติศาสตร์ก็ได้
เอาความหมายแรกก่อน สถิติที่หมายถึงข้อมูลสถิตินั้น เป็นความหมายที่จำกัดเฉพาะ โดยหมายความถึงสถิติที่เป็นข้อมูลที่มีการจัดเก็บมาและนำเสนอเพื่อให้ผู้ใช้นำไปใช้ประโยชน์ โดยอาจจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นอยู่ด้วยได้ สถิติในความหมายนี้ จึงเป็นสถิติในลักษณะที่บอกว่าข้อมูลในเรื่องหนึ่งๆ เป็นอย่างไร เช่น สถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม 2551 ถึง ตุลาคม 2551 ก็เป็นสถิติที่แสดงข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยอาจแสดงรายละเอียดเป็นรายเดือน รายไตรมาส แยกตามสัญชาติ หรือตามด่านที่เดินทางเข้า หรือตามประเภทของการเดินทาง เป็นต้น สถิตินี้ ได้มาจากข้อมูลที่จัดเก็บโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นำมารวบรวมจัดทำเป็นสถิติ หรือสถิติการส่งออกสินค้าของประเทศไทยในช่วงเวลาหนึ่ง ก็เป็นสถิติที่ประมวลได้จากข้อมูลการส่งออกสินค้าประเภทต่างๆ โดยอาจจำแนกออกตามประเภทของสินค้า วิธีการส่งสินค้า ประเทศปลายทางหรือภูมิภาคปลายทาง โดยให้รายละเอียดทั้งปริมาณและมูลค่าสินค้า เป็นต้น
ทีนี้ก็มาถึงความหมายที่สอง สถิติที่หมายถึงวิชาสถิติ หรือสถิติศาสตร์ ที่มีการเรียนการสอนกันทั่วไป สถิติศาสตร์คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาอธิบายปรากฏการณ์หนึ่ง หรือตอบคำถามหรือตอบประเด็นปัญหาที่สนใจ ในความหมายนี้ สถิติเป็นศาสตร์ที่สำคัญศาสตร์หนึ่งเชียวแหละ ต้องเรียนกันเป็นสาขาวิชา มีทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก เรียนก็ยาก แต่น่าสนใจเพราะโลกใบนี้ ขาดสถิติก็ไม่ได้ ยังไงๆ ก็คงต้องมีคนเรียนอยู่ดี
สถิติศาสตร์ต้องอาศัยคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานที่จำเป็น พวกที่เน้นทางทฤษฎีก็ต้องพยายามสร้างทฤษฎีใหม่ๆ ที่ให้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น หรือแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ของวิธีเดิมๆ แต่ก็มีพวกที่นำทฤษฎีมาใช้ เรียกว่า สถิติประยุกต์ด้วย
แต่พวกที่เรียนสนุกกว่า อาจเป็นพวกที่นำสถิติศาสตร์ไปใช้ในศาสตร์ของตนเองหนักๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ที่เป็นเศรษฐมิติ ต้องเรียนสถิติศาสตร์มาก เพราะต้องนำไปใช้ในการสร้างตัวแบบและวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ หรือทางการแพทย์ ทางเภสัชศาสตร์ ก็ต้องอาศัยสถิติศาสตร์ในการทดลองทั้งวิธีการรักษาพยาบาล และตัวยาที่พัฒนาขึ้น จนเป็นศาสตร์ที่เรียกกันว่า ชีวสถิติ (Biostatistics) ทางธุรกิจ ก็ใช้สถิติวิเคราะห์ขั้นลึกในการตัดสินใจแทบทุกด้าน เช่น ในการวางแผนการผลิตและการตลาด มีการพยากรณ์สภาพตลาดในช่วงเวลาต่อไป หรือการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อหาทางที่จะสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น เมื่อมีลูกค้าจำนวนมากๆ เข้า ก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วย วิธีการที่รู้จักกันทั่วไปเรียกว่า Data Mining หรือ Information Mining และอื่นๆ อีกมากมาย
กลับมาประเด็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยทั่วไปอีกสักนิด คงต้องย้ำว่าการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปนี้ จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ดีมีคุณภาพ เพื่อให้ข้อสรุปหรือคำตอบมีคุณภาพเชื่อถือได้เช่นกัน สถิติศาสตร์จึงต้องเกี่ยวข้องกับศาสตร์ของการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วย สถิติในความหมายนี้ จึงเป็นเรื่องทางวิชาการที่เกี่ยวกับการหาวิธีที่เหมาะสมในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐานที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ และการหาวิธีที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่มีความถูกต้องเชื่อถือได้ และสามารถตอบคำถามหรือเป็นคำตอบของประเด็นปัญหาที่สนใจได้นั่นเอง
ในเรื่องของข้อมูลและการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ ที่สำคัญคือ จากเรื่องหรือปัญหาที่สนใจ เราต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้างมาตอบปัญหา ข้อมูลแต่ละรายการมีลักษณะอย่างไร วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่พึงใช้เป็นอย่างไร ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้มาเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้จะกล่าวถึงใน blog ชื่อ statsdata.blogspot.com ซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ คอยติดตามนะคะ
ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยหลักการและวิธีการทางสถิติศาสตร์ที่ต้องทำความเข้าใจให้ดี และจะกล่าวถึงใน blog ที่จะสร้างขึ้นต่อไป แต่ใน blog นี้ จะขอกล่าวถึงหลักการพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลไว้ชั้นหนึ่งก่อน เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์เบื้องต้นซึ่งเรียกว่า สถิติเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง หรือที่เรียกว่า สถิติเชิงอนุมาน ในหัวข้อต่อไป
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment