Thursday, October 30, 2008

การพยากรณ์ยอดขายสินค้า...ตัวอย่างสถิติในชีวิตประจำวัน

การคาดประมาณยอดขายสินค้าปีหน้า

ใครๆ ก็ว่าการวางแผนอนาคตเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งสำหรับธุรกิจด้วยแล้ว การวางแผนดำเนินธุรกิจของกิจการเป็นเรื่องที่พลาดไม่ได้ พอช่วงปลายๆ ปี ทุกองค์กรก็ต้องระดมสมองกันคิดว่าปีหน้าจะวางแผนอย่างไร โดยปกติธุรกิจจะมีแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดเป้าหมายของกิจการไว้ สำหรับกิจการที่ขายสินค้าหรือบริการ ก็จะกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานในรูปของยอดขายสินค้าและ/หรือบริการ

การพยากรณ์หรือการคาดประมาณยอดขายสินค้าและบริการจึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ต้องดำเนินการให้มีความถูกต้องเชื่อถือได้ เพื่อเป็นหลักในการวางแผนดำเนินงานของกิจการต่อไป

สมมติว่าเราสนใจการพยากรณ์ยอดขายสินค้า เราก็ต้องทราบว่า อนาคตเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน แต่ภายใต้ความไม่แน่นอนนี้ เราน่าจะสามารถจับรูปแบบบางอย่างมาช่วยเราคาดการได้ แล้วก็มองอนาคตในลักษณะการคาดประมาณที่พึงเป็นภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่น ภายใต้สภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม และรูปแบบการขยายตัวของยอดขายสินค้าที่เป็นอยู่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นต้น ก็จะสามารถนำข้อมูลอดีตมาเป็นข้อมูลหลักในการพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ตรงนี้แหละ คือส่วนที่สถิติจะสามารถเข้ามาช่วยได้ ด้วยการจับรูปแบบที่เกิดขึ้นมาแล้วจากการวิเคราะห์ข้อมูลอดีต และให้วิธีการในการพยากรณ์ค่าอนาคต

แต่สถิติจะทำงานโดดๆ ไม่ได้!!! สถิติเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล แต่ต้องภายในกรอบขององค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ เช่น ในการพยากรณ์ยอดขายสินค้า นอกจากข้อมูลยอดขายสินค้านั้นในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังอาจมีข้อมูลอื่นที่จะมาช่วยอธิบายลักษณะการเปลี่ยนแปลงของยอดขายได้ เช่น การดำเนินการส่งเสริมการขายของกิจการ ลักษณะของตลาด และเงื่อนไขอื่น ซึ่งผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้นจะสามารถบอกหรือกำหนดได้ว่า ยอดขายสินค้ามีความสัมพันธ์กับปัจจัยใดบ้าง สถิติจะช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้ที่เป็นเจ้าของศาสตร์คิด หรือรูปแบบความสัมพันธ์ที่คาดไว้เป็นอย่างไร และมีความน่าเชื่อถืออย่างไร

ตัวอย่าง เช่น ถ้าผู้รู้เรื่องนั้นมีความเชื่อว่า ยอดขายสินค้าในไตรมาสต่างๆ ของปีต่อไป จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มการขยายตัวของตลาดของสินค้าชนิดนี้ โดยมีการเคลื่อนไหวตามฤดูกาล สถิติก็อาจเสนอให้ใช้วิธีการวิเคราะห์อนุกรมเวลาในการพยากรณ์ยอดขายรายไตรมาสในปีต่อไป แต่หากเชื่อว่ายอดขายรายไตรมาสในปีต่อไปจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้ คือ ส่วนแบ่งตลาดของสินค้า จำนวนพนักงานขาย ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย และราคาสินค้า วิธีการวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ยอดขายรายไตรมาสในปีต่อไป อาจเป็นวิธีการวิเคราะห์ความถดถอยที่นำเอาปัจจัยข้างต้นเป็นตัวแปรอิสระมาช่วยอธิบายการเปลี่ยนแปลงในยอดขายเพื่อทำการพยากรณ์ยอดขายรายไตรมาสในปีต่อๆ ไป เป็นต้น

เห็นไหมคะ ว่าสถิติมีประโยชน์และจำเป็นในการพยากรณ์อย่างมีเหตุมีผล เพราะสถิติเป็นศาสตร์ที่เสนอวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อพยากรณ์ยอดขายสินค้าและบริการได้อย่างเหมาะสมและเชื่อถือได้ โดยมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องช่วยกำหนดคุณภาพของการพยากรณ์ด้วย หลักสำคัญคือคุณภาพการพยากรณ์ เพราะถ้าพยากรณ์อย่างไม่มีคุณภาพ ก็ย่อมสร้างปัญหาในการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน

No comments: